M.K. Unigroup Corporation

ชูครีม กับ เอแคลร์ และความเข้าใจผิด

admin01
mkunigroup

หลายๆคนคงจะสงสัย และสับสนกันอยู่แน่ ๆ เลย ว่าเจ้าขนมลักษณะเป็นแป้งก้อนกลม ๆ สอดไส้ครีมกลิ่นวนิลา ตามร้านขายเบเกอรี่ทั่วไปนั้น แท้จริงแล้วมันมีชื่อว่าอะไรกันแน่ มาค่ะวันนี้ทางเราจะหาคำตอบกับขนมชนิดนี้กัน

 

ชูครีม ( Choux Cream ) กับ เอแคลร์ ( Eclair ) ชื่อเรียกขนมชนิดหนึ่งที่ สร้างความสับสนงงงวยให้กับใครหลายคน เข้าใจผิดมาโดยตลอด หากเดินเข้าร้านเบเกอรี่สักร้าน รับรองเลยว่าจะต้องเจอขนมเจ้าปัญหา สองตัวนี้วางขายคู่กันเป็นแน่ แล้วเมื่อสั่งเอแคลร์ ( Eclair ) แต่ทำไม ที่ร้านถึงหยิบเจ้าขนมทรงยาว ๆ มาให้กันล่ะ !

 

มาค่ะ วันนี้เรามาไขข้อข้องใจ ของใครหลาย ๆ คนกันดีกว่า ว่าถ้าหากอยากกินขนม รูปทรงกลมสอดไส้ หรือรูปทรงยาว มีซอสราดด้านบนนั้น ควรสั่งว่าอะไร

 

ชูครีม ( Choux Cream )

 

ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ชาวต่างชาติจะเรียก ชูครีม ( Choux Cream ) ว่า " ชูซ์ อา ลาเคร์ม " ( Choux a la Crème ) แปลตรงตัวก็คือ กะหล่ำปลีมีครีม ซึ่งมาจากคำว่า " ชูซ์ " ( Choux ) ในภาษาฝรั่งเศสหมายถึง กะหล่ำปี ชูครีมเลยมีรูปร่างคล้าย ๆ กะหล่ำปีทรงกลม ๆ สอดไส้ด้วยครีมต่าง ๆ ส่วนคำว่า ชูครีม ก็มาจากการรวบคำ เพื่อให้พูดได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

 

เอแคลร์ ( Eclair )

 

สำหรับเอแคลร์ ( Eclair ) หรือที่เรียกอีกชื่อว่า “ บาตง เดอ ฌากอบ ” ( Bâton de Jacob ) แล้ว ในภาษาฝรั่งเศสหมายถึง สายฟ้าแล่บ ขนมชนิดนี้เลยจะมีลักษณะ ยาวเหมือนกับสายฟ้านั่นเอง ดั้งเดิมจะแล้วราดด้านบน ด้วยช็อกโกแลต ไม่ได้สอดไส้ครีมเหมือนในปัจจุบัน ที่เราเห็นกันตามร้านเบเกอรี่

 

สรุปกันง่ายๆคือ แท้จริงแล้ว " ชูครีม " ( Choux Cream ) และ " เอแคลร์ " ( Eclair ) เป็นขนมสัญชาติฝรั่งเศส ที่ต่างชนิดกัน รูปร่างต่างกัน เพียงแต่ใช้แป้งชนิดเดียวกัน เป็นวัตถุดิบหลักเท่านั้นเอง

 

แล้วรสสัมผัสหล่ะ ต่างกันมากมั้ย ?

 

ในเมื่อทุกคนเข้าใจถึงชนิดและการเรียกชื่อของเจ้าขนมทั้งสองชนิดนี้กันแล้ว ก็อาจจะเกิดข้อสงสัยว่า อ้าว ! ในเมื่อมันเหมือนกัน วิธีการทำมันจะเหมือนกันมั้ย แล้วรสชาติล่ะเหมือนกันรึเปล่า ? ทางเราจึงเตรียมเทคนิคการทำขนมสองชนิดนี้มาเปรียบเทียบให้ทุกคนดูกันแล้วค่ะ

 

ทั้ง " ชูครีม " ( Choux Cream ) และ " เอแคลร์ " ( Eclair ) นั้นมีส่วนผสมหลัก ที่เหมือนกันคือ น้ำ ไขมัน แป้ง และไข่ โดยบางสูตรจะมีนม เป็นส่วนผสมด้วย เมื่อนำไปอบ หน้าของขนมจะมีสีสวย ดูเงางาม น่ารับประทาน แต่วิธีการอบนั้นกลับต่างกันโดยสิ้นเชิง

 

ชูครีม : ( Choux Cream )

 

- เปลือกชูครีมนั้นจะต้องผ่านความร้อนสองครั้ง

- การผ่านความร้อนครั้งที่หนึ่ง คือผ่านตอนกำลังผสมแป้ง ต้องผสมแป้งในน้ำเดือดจัดที่มีเนยละลาย เพราะเปลือกชูครีม ต้องการไอน้ำในการพองตัวระหว่างอบ เมื่อแป้งโดนความร้อนดูดน้ำไว้ในตัว ทำให้เกิดการพองตัวขึ้น น้ำจะถูกแป้งดูดไว้จนเกือบหมด พร้อมกับเนยละลาย และขึ้นเป็นก้อนโด ถ้าหากผสมในอุณหภูมิปกติ จะได้ส่วนผสมที่เหลวๆ ไม่สามารถบีบขึ้นรูปได้

- ส่วนความร้อนครั้งที่สอง คือการนำเข้าเตาอบ ควรอบที่อุณหภูมิ 190 องศาเซลเซียส ความร้อนที่เกิดขึ้นตอนอบ จะทำให้น้ำที่ก้อนโดอุ้มไว้เปลี่ยนเป็นไอน้ำ ทำให้ขนมพองขึ้นและเกิดโพรงด้านใน

 

การใส่ไส้คัสตาร์ดลงในชูครีม

 

ต้องรอให้เปลือก และไส้เย็นทั้งคู่เพื่อให้เก็บไว้ได้นานขึ้น ไม่เสียเร็ว แต่เนื่องจากชูครีม มีขนาดชิ้นที่ใหญ่กว่าเอแคลร์ โดยทั่วไปจะนำคัสตาร์ด มาผสมกับวิปปิ้งครีม ให้มีความฟู โดยผสมในปริมาณที่บีบไส้ลงในชูครีม และสามารถคงตัวได้

 

เอแคลร์ : ( Eclair )

 

- บีบแป้งและอบทันที

- ควรบีบแป้งชูที่ผสมไว้ และนำเข้าอบทันที ไม่ควรบีบไว้นาน เพราะจะทำให้หน้าขนมแห้ง ไม่ขึ้นฟูเวลาอบ

- อบด้วยอุณหภูมิสูง เพื่อให้เปลือกมีสีสวย อยู่ตัว

- ควรใช้อุณหภูมิในการอบประมาณ 200 - 220 องศาเซลเซียส เพื่อให้แป้งพองตัว และอยู่ตัวเสียก่อน ค่อยลดอุณหภูมิลงเหลือ 190 องศาเซลเซียส เพื่อให้เปลือกมีสีสวย อยู่ตัวยิ่งขึ้น ไม่ควรนำออกจากเตาอบเร็วเกินไป เพราะจะทำให้เปลือกหดตัวและแบน

 

การใส่ไส้คัสตาร์ดลงในเอแคลร์

 

- การใส่ไส้คัสตาร์ด ต้องรอให้เปลือกของเอแคลร์ และไส้เย็นทั้งคู่

- ถ้าเปลือกร้อนแต่ไส้เย็น จะทำให้ไส้เอแคลร์ เก็บไว้ได้ไม่นาน เสียเร็ว

- หากเปลือกเย็นแต่ไส้ร้อน จะทำให้เปลือกแฉะ และทำให้เอแคลร์เสียเร็วเช่นกัน

 

ทีนี้ก็พอจะไขข้อข้องใจของใครหลายๆคนได้แล้วนะคะว่า " ชูครีม " ( Choux Cream ) และ " เอแคลร์ " ( Eclair ) นั้นแตกต่างกันยังไง ทีนี้ทุกคนก็สามารถเดินเข้าร้านเบเกอรี่ได้อย่างสบายใจโดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการสั่งขนมทั้งสองชนิดนี้กันแล้วล่ะค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

falconforprofessional.com

gourmetandcuisine.com

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

จุดกำเนิดของ ครัวซอง

บราวนี่ ที่รัก !