M.K. Unigroup Corporation

ต้นกำเนิดของ เครป ( Crepe )

admin01
mkunigroup

เครป ( Crepe ) ขนมที่มีการกำเนิดมาอย่างยาวนาน และเป็นขนมที่ได้รับความนิยมอย่างมากทั่วโลก ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่รู้ถึงที่มาของ เครป ( Crepe ) ว่ามีต้นกำเนิดมาจากที่ใด ใช่ประเทศญี่ปุ่นจริงหรือไม่ วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับ

 

เครป คืออะไร?

 

เครป ( Crepe ) เป็นขนมที่ประกอบด้วย แป้งสาลี ไข่ น้ำตาล นมเนย นำมาผสมกันเป็นเนื้อแป้งเดียวกัน แล้วเทลงกระทะ จะได้เป็นแผ่นแป้งวงกลม เมื่อทอดเริ่มสุกสามารถใส่ไส้ทั้งคาวและหวานได้ตามต้องการ ซึ่ง คนไทยหลายคน คงรู้จักกับขนมชนิดนี้กันเป็นอย่างดี เนื่องจากมีขายในท้องตลาดทั่วไปในลักษณะแป้งพับกรอบทรงสามเหลี่ยม ด้านในมีไส้ คาว หวาน ให้เลือกใส่ท็อปปิ้งได้ตามความต้องการของผู้บริโภค

 

ต้นกำเนิดของ เครป ( Crepe )

 

เครป ( Crepe ) เป็นขนมที่มีต้นกำเนิดมาจาก ประเทศฝรั่งเศส ในยุคแรกเริ่ม ของเครปนั้น เป็นอาหารของชาวบริตตัน แคว้นบริตตานี ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งใช้ แป้งบัควีต ( Buck Wheat ) มายวดกับน้ำมัน และเกลือจนได้ แป้งโด ( dough ) แล้วนำมาอบด้วยหินร้อน ๆ ซึ่งเรียกขนมนี้ว่า “กาเล็ตต์ ( galettes )” กินกับเนยแข็งและมันฝรั่งแทนขนมปัง โดยเฉพาะในยามข้าวยากหมากแพงอย่าง ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คำว่า เครป ( Crepe ) ในภาษาฝรั่งเศสมีความหมายว่า ผ้าแพร

 

รูปแบบดั้งเดิมของฝรั่งเศส มีลักษณะเป็นแป้งเนื้อนิ่ม ส่วนมากเสิร์ฟแบบพับสามเหลี่ยมเช่นกัน ในอดีตมีการทาเนย โรยน้ำตาล หรือใส่ไส้ด้วยผลไม้ เห็ด เนยแข็ง และแฮม แต่ปัจจุบันคิดปรับปรุงสูตรใหม่ให้เข้ากับยุคสมัยและความนิยมของคนในแต่ละท้องถิ่นหรือประเทศนั้น ๆ เครป ที่ทอดสุกแล้ว มีลักษณะเป็นวงกลมสีเหลืองทองคล้ายกับดวงอาทิตย์ จึงเป็นขนมที่ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ ใช้ในการเสี่ยงทายของสังคมเกษตรในเทศกาลวัน ลา ฌองเดอเลอร์ ( La Chandeleur )

 

เครป กับ วัน ลา ฌองเดอเลอร์

 

วัน ลา ฌองเดอเลอร์ (La Chandeleur) มีอีกชื่อเรียกว่า วันเครปแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี หรือ นับหลังจากวันคริสต์มาสเป็นเวลา 40 วัน ในวันนี้ชาวฝรั่งเศสจะฉลองด้วยการกินเครป หลากหลากชนิด เพื่อรำลึกถึงพระแม่มารีและพระบุตร (พระเยซู) วันนี้จึงจัดว่าเป็นวันสำคัญทางศาสนาของชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอีกด้วย

 

คำว่า La Chandeleur มาจากคำว่า La Chandelle ที่แปลว่า เทียน ซึ่งเทศกาลนี้มีที่มา คือ ในปี ค.ศ. 472 โป๊ป หรือประมุขแห่งศาสนาคริสต์คาทอลิกที่มีชื่อว่า เฌลาสที่หนึ่ง (Gélase 1er) ได้จัดเทศกาลนี้ เพื่อฉลองการปรากฎตัวของพระเยชูในโบสถ์ โดยในคืนวันเทศกาล จะมีการเดินขบวนพร้อม ทั้งถือเทียนและสวดมนต์ไปพร้อม ๆ กัน

 

หลังจากการเดินขบวนเสร็จสิ้น ผู้ที่เลื่อมใสศรัทธา ในตัวพระเยซู จะเดินเข้าไปในโบสถ์ เพื่อนำเทียนศักดิ์สิทธิ์ที่จุดไว้กลับไปยังบ้านของตน โดยในระหว่างทาง ต้องระวังไม่ให้เทียนดับ เพราะมีความเชื่อว่าเทียนดังกล่าวนั้น มีอานุภาพมากมาย เช่น เมื่อหยอดน้ำตาเทียนลงไปบนไข่ ไข่ใบนั้นก็จะฟักออกมาเป็นตัว หรือ เมื่อเราจุดเทียนในขณะที่มีพายุ เปลวเทียนนั้น จะช่วยป้องกันสายฟ้าผ่า เป็นต้น

 

ในปัจจุบันนี้ การถือเทียนเดินขบวนสวดมนต์ และความเชื่อเกี่ยวกับเทียนศักดิ์สิทธิ์ ได้สูญหายไปแล้ว แต่เราก็ยังคงรักษาประเพณีการทำเครปในวัน ลา ชองเดอเลอร์เอาไว้ เพราะรสชาติที่หอมหวาน และยั่วยวนใจของเครปได้

 

เครปในประเทศไทย

 

เครปในประเทศไทย มีการขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปมานานระยะหนึ่งแล้ว สามารถพบได้ตามตลาด หรือบริเวณหน้าโรงเรียน โดยเครปในรูปแบบนี้ เป็นเครปร้อนที่มีแป้งบางกรอบ ภายในมีไส้คาว หรือหวานให้เลือกได้ตามความต้องการ สำหรับเครปไส้คาวจะมีท็อปปิ้ง เช่น ไข่ ไส้กรอก เห็ด แฮม น้ำพริกเผา เป็นต้น ส่วนไส้หวาน จะมีท็อปปิ้งเป็น ฝอยทอง ลูกเกด ครีมนม หรือครีมผลไม้รสชาติต่าง ๆ เป็นต้น

 

สำหรับ เครปในรูปแบบเย็น ในปัจจุบัน สามารถหารับประทานได้ตามภัตตาคารชั้นนำ หรือในบางคาเฟ่ที่มีการทำเครปเย็น ซึ่งในบางร้าน ได้มีการนำเครปมาประยุกต์ ให้เป็นเครปเค้ก เครปพันชั้น หรือเครปไอศกรีม อีกด้วย

 

 

 

อ่านบทความเพิ่มเติม

เซียบัตต้า ขนมปัง ที่เกิดมาท้าชน ขนมปังฝรั่งเศส

ขนมปังโฮลวีต ขนมปัง คุณประโยชน์เยอะ